นายก อบจ.นครสวรรค์ ลงเยี่ยมแปลงนาข้าวของสมาชิกเครือข่าย รร.ชาวนาฯ ที่ประสบความสำเร็จ
วันที่ 7 กันยายน 2566 พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายอรรถพร แรงกสิกร ส.อบจ. เขตอำเภอลาดยาว นางทัศวลี ผึ้งสีใส หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รก.หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมแปลงนาของ นางบังอร แสนเมืองโคตร สมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ณ วิสาหกิจชุมชนสรรเกษตร ต.วังม้า อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ โดยมี นายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ นำลงพื้นที่
เดิมแปลงนาของ นางบังอร แสนเมืองโคตร เป็นแปลงนาอินทรีย์ ปลอดสาร ต้องการเรียนรู้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ จึงได้ไปเรียนรู้การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามโครงการพัฒนาเกษตรกรและพัฒนาพันธุ์ข้าว จังหวัดนครสวรรค์ ที่ อบจ.นครสวรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นที่ผ่านมา จึงนำความรู้ที่ได้มาทดลองขยายพันธุ์ข้าวเอง โดยนำสายพันธุ์เกยไชย ซึ่งมีลักษณะเรียว ยาว มีหาง มาขยายพันธุ์ออกมาเป็นสายพันธุ์ช่อราตรี ซึ่งมีลักษณะที่อวบอ้วนกว่า ได้ปริมาณที่มากกว่า แปลงแรกที่ทดลองปลูกเมื่อเกี่ยวแล้วได้ประมาณ 50 ถัง จากเดิมที่จำหน่ายถังละ 250 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็นถังละ 300 บาท โดยที่ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเพราะได้ข้าวมีคุณภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นการทดลองขยายสายพันธุ์ข้าวครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาขายเพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์กับความต้องการทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “ปัจจุบันถ้าเราไม่พัฒนา อนาคตเราจะอยู่ยาก เพราะผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการกินสูงมาก ถ้าหากว่าอาหารที่มาจากวัตถุดิบอะไรก็แล้วแต่ไม่ได้รับการพัฒนา ก็เข้าตลาดไม่ได้ ข้าวก็เหมือนกัน เมื่อก่อนคนกินเพื่อให้อิ่มท้องแต่สมัยนี้ระวังกันเยอะ ข้าวต้องไม่ทำลายสุขภาพ ไม่ปนเปื้อน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ซึ่งวิชานี้สำคัญมาก ผมจึงอยากให้ชาวนาได้ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว ศึกษาองค์ประกอบ ผสมสายพันธุ์ข้าวที่สามารถเข้าตลาดได้”
โดยกิจกรรมในวันนี้ นายก อบจ. ได้ทดลองลงแขกเกี่ยวข้าว ชมสาธิตการสีข้าวจากเครื่องสีฝัดข้าว ที่ชาวบ้านทำเอง จากนั้นได้ล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ รับฟังสภาพปัญหากับชาวนา ในเรื่อง การเชิญชวนชาวบ้านมาทำข้าวอินทรีย์, การเปลี่ยนวิธีคิดว่าจะทำยังไงให้ได้ข้าว “ถ้าเราได้ข้าว ก็ได้เงิน”, การเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ชาวบ้านอยากให้พัฒนาเป็นรายครัวเรือนมากกว่าที่พัฒนาร่วมกัน, อธิบายเรื่องโคกหนองนา, การดูแลเครื่องมือ การประเมินผลลัพธ์ของสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนา, การวางแผนแปรรูปข้าว เข้าสู่ตลาดทั้งระบบใหม่ และระบบเก่า, รายได้ 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อที่อย่างน้อยชาวบ้านต้องมีรายได้นำไปใช้หนี้และอยู่รอด และการจัดทำโครงการให้ความรู้ในรูปแบบที่นำนักวิชาการลงพื้นที่ แทนที่ชาวบ้านต้องเดินทางไป เพื่อเห็นพื้นที่จริง สภาพแวดล้อมจริง
///
ภาพ/ข้อมูล : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
#ICTC #NakhonsawanPAO #NSNPAO
#อบจนครสวรรค์ #องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์